ECMO คืออะไร หลายคนคุ้นว่าเป็นเครื่องมือแพทย์ชิ้นสำคัญ ที่ไว้ช่วยชีวิตผู้ป่วยวิกฤต เช่น ผู้ป่วยหัวใจวาย แต่นอกจากนี้เครื่องเอคโม่ยังทำอะไรได้อีกบ้าง
ECMO ย่อมาจากคำว่า Extracorporeal Membrane Oxygenation หรืออาจจะเรียกได้อีกชื่อว่า Extracorporeal Life Support (ECLS) จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ช่วยชีวิตผู้ป่วยอาการหนัก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอด หรือหัวใจ
เครื่อง ECMO เป็นเครื่องมือแพทย์ ที่ใช้พยุงการทำงานของปอดและหัวใจของผู้ป่วยที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤต ที่มีการทำงานของปอดและหัวใจผิดปกติ และไม่สามารถใช้ยาหรือเครื่องช่วยหายใจประคับประคองอาการของผู้ป่วยให้พ้นขีดอันตรายได้
โดยเครื่องเอคโม่จะช่วยเพิ่มระดับออกซิเจนและลดระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือดจากภายนอกร่างกาย หรืออธิบายง่าย ๆ ว่าทำหน้าที่เป็นปอดเทียมและหัวใจเทียม โดยแลกเปลี่ยนออกซิเจนด้วยการนำเลือดออกจากตัวของผู้ป่วยมาผ่านเครื่องปั๊ม แล้วนำไปฟอกผ่านปอดเทียม ก่อนเติมออกซิเจน และนำคาร์บอนไดออกไซด์ออก เพื่อนำเลือดดีกลับเข้าสู่ร่างกาย จนทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตของผู้ป่วยพ้นภาวะวิกฤต
เครื่อง ECMO ใช้ในกรณีไหน
ผู้ป่วยที่เข้าข่ายได้ใช้เครื่อง ECMO ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่มีอาการเข้าขั้นวิกฤต ดังนี้
-
ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวชนิดรุนแรง เช่น หัวใจหยุดเต้นจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
-
ผู้ป่วยที่มีภาวะหายใจล้มเหลวชนิดรุนแรง เช่น ลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดแดงในปอด ทำให้ปอดไม่สามารถทำงานได้ปกติ
-
ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวและหายใจล้มเหลวร่วมกัน เช่น กรณีผู้ป่วยโควิด 19 ที่อยู่ในภาวะวิกฤต
-
ผู้ป่วยที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตขณะที่กำลังกู้ชีพด้วยการ CPR หรือการปั๊มหัวใจ
เครื่อง ECMOมีกลไกการทำงานอย่างไร
- Veno-Arterial (VA)
เป็นเครื่องที่จะดูดเลือดออกจากเส้นเลือดดำใหญ่ เช่น จากคอในเด็กเล็ก หรือขาในเด็กโตและผู้ใหญ่ มาผ่านเครื่องปอดเทียมเพื่อเพิ่มออกซิเจนและช่วยแลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับเข้าสู่เส้นเลือดแดงใหญ่ส่วนบนหรือส่วนล่าง ซึ่งจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจล้มเหลวรุนแรง หรือมีทั้งปอดและหัวใจล้มเหลว
- Veno-Venous (VV)
เครื่องจะดูดเลือดออกจากเส้นเลือดดำใหญ่ผ่านปอดเทียม และเข้าสู่หลอดเลือดดำใหญ่อีกครั้งใช้สำหรับกรณีที่มีภาวะหายใจล้มเหลวชนิดรุนแรง
- Arterial-Venous (AV)
เป็นการใช้แรงดันจากด้านหลอดเลือดแดงโดยไม่ต้องใช้เครื่องดึงผ่านปอดเทียม ใช้สำหรับกรณีที่มีภาวะหายใจล้มเหลวชนิดรุนแรงปานกลาง
เครื่อง ECMO มีข้อจำกัดในการใช้อย่างไร
แม้ ECMO จะเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ช่วยชีวิตผู้ป่วยวิกฤต ทว่าก็ใช้ไม่ได้กับผู้ป่วยทุกเคสนะคะ แต่ยังมีข้อควรระวังในการใช้ โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่มีปัจจัยร่วมบางประการ เช่น
-
ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย
-
ผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจมาเป็นระยะเวลานาน
-
ผู้ป่วยที่มีภาวะลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว (Aortic Regurgitation)
- ผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด (Aortic Dissection)
ผลข้างเคียงจากการใช้เครื่อง ECMO
การใช้เครื่อง ECMO ช่วยชีวิตผู้ป่วย ก็อาจเสี่ยงเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้ได้
-
เสี่ยงมีเลือดออกในสมอง เพราะต้องให้ยาเพื่อป้องกันการแข็งตัวของเลือดในท่อทางเดินเลือด
-
อาจมีการติดเชื้อบริเวณแผลที่ทำการใส่ท่อทางเดินเลือด
-
ปัญหาเกี่ยวกับการให้เลือด ซึ่งขึ้นอยู่กับร่างกายของผู้ป่วยแต่ละบุคคลด้วย
-
เกิดลิ่มเลือดหรือฟองอากาศในท่อทางเดินเลือด ในช่องหัวใจ หรือในปอดเทียม
-
หากมีลิ่มเลือดในหัวใจช่องซ้าย อาจเสี่ยงภาวะ Stroke หรือโรคหลอดเลือดสมองได้
-
อาจพบภาวะไตทำงานบกพร่องได้
-
เกิดภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงบริเวณขา (ในผู้ป่วยบางราย)
-
ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก
-
ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
https://www.youtube.com/watch?v=wzRfw-MzimY&ab_channel=TROPMEDYoutube
อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้เครื่อง ECMO ก็จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และพยาบาลอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมงนะคะ ดังนั้นความเสี่ยงจากการใช้เครื่อง ECMO บางอาการแพทย์ก็สามารถช่วยเหลือและป้องกันให้ได้ เพราะจุดประสงค์ในการใช้เครื่องมือแพทย์ชิ้นนี้ ก็เพื่อพยุงอาการผู้ป่วยให้รอดชีวิต และกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติมากที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก https://health.kapook.com/view263315.html